รีวิว บ้านเช่า..บูชายัญ : อวิชชา มูเตลู และความทุกข์ทนของครอบครัวชนชั้นกลาง

บ้านเช่า..บูชายัญ หลังจากที่ GDH ปล่อยหนังเรื่องแรกของค่ายในปี 2023 อย่าง ‘เธอกับฉันกับฉัน’ หนังรักวัยรุ่นใส ๆ (และน้องใบปอ) ออกมา ดูเหมือนจะไม่อยากทิ้งช่วงนาน ก็เลยปล่อยผลงานใหม่ ผลงานความร่วมมือระหว่าง จอกว้าง ฟิล์ม และ เอ็นเอท สตูดิโอ (N8 Studio) กับผลงานหนังระทึกขวัญเรื่องใหม่ของเจ้าพ่อหนังสยองสายอสังหาริมทรัพย์ จิม โสภณ ศักดาพิศิษฏ์ ที่ทิ้งช่วงจากงานชิ้นก่อนมาถือว่านานโข ถ้านับซีรีส์ก็ตั้งแต่ ‘เคว้ง’ (The Stranded) (2019) ของ Netflix แต่ถ้านับเฉพาะหนัง ก็นับตั้งแต่ ‘เพื่อน..ที่ระลึก’ (2017) โน่นเลย

ซึ่งจิมเองโด่งดังมาจากการเป็นมือเขียนบทหนังสยองดัง ๆ ของค่ายนี้ ตั้งแต่ ‘แฝด’ (2007), ‘สี่แพร่ง’ (2008) และ ‘ห้าแพร่ง’ (2009) ส่วนผลงานกำกับหนังของพี่เขาก็มีแต่หนังสยองขวัญทั้งนั้น แถมยังเป็นหนังสยองขวัญที่มักจะใช้โลเกชันสถานที่ต่าง ๆ เป็นไอเดียตั้งต้นและจุดเกิดเหตุของหนังทุกเรื่องแทบทั้งสิ้น ทั้งโรงภาพยนตร์ ใน ‘โปรแกรมหน้า วิญญาณอาฆาต’ (2008) บ้าน ใน ‘ลัดดาแลนด์’ (2011) สระว่ายน้ำ ใน ‘ฝากไว้..ในกายเธอ’ (2014) และตึกร้างใน ‘เพื่อน..ที่ระลึก’ (2017) จนเป็นที่มาของฉายา ‘เจ้าพ่อหนังผีสายอสังหาริมทรัพย์’ นี่แหละ

และล่าสุดเขาก็เลือกที่จะปักหมุด เลือกเอาบ้านเช่ามาเป็นจุดเกิดเหตุ พร้อมกับการผสานเรื่องราวสยองขวัญแนวลัทธิประหลาดที่ได้แรงบันดาลใจจากคดีอาชญากรรมที่เกิดขึ้นจริงของผู้เช่าบ้านที่นับถือลัทธิแปลกประหลาด ที่มีกิจวัตรน่าสงสัย นำไปสู่คดีอาชญากรรมสะเทือนขวัญ ดัดแปลงจนกลายมาเป็นหนังเรื่องล่าสุดอย่าง ‘บ้านเช่า..บูชายัญ’ ซึ่งตัวเนื้อหาข่าว จริง ๆ สามารถหาอ่านได้ไม่ยากในอินเทอร์เน็ตครับ แต่เพื่อความสดใหม่ของเนื้อหา ผู้เขียนเองก็อยากแนะนำว่า แม้เนื้อหาจะไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว การอ่านก่อนดูก็อาจจะทำให้เห็นร่องรอยแรงบันดาลใจบางอย่าง และอาจทำให้รู้สึกเหมือนโดนสปอยล์นิด ๆ และอาจจะเผลอไปเดาเนื้อเรื่องหนังก่อนก็ได้ แนะนำให้ไปปะทะกับตัวหนังเลยแล้วค่อยกลับมาอ่านน่าจะดีที่สุดครับ

เรื่องราวเริ่มต้นจากคู่สามีภรรยา กวิน (ศุกลวัฒน์ คณารศ) หนิง (นิษฐา คูหาเปรมกิจ) และ อิง ลูกสาววัย 7 ขวบ ที่ตัดสินใจย้ายออกจากบ้านเพื่อไปอาศัยอยู่ที่คอนโดมีเนียม และปล่อยบ้านให้คนมาเช่า จนกระทั่งมีผู้เช่าอย่าง ราตรี (เพ็ญพักตร์ ศิริกุล) คุณหมอวัยเกษียณ และ นุช ลูกสาววัย 40 คู่แม่ลูกที่ดูแปลกประหลาดมาขอเช่าบ้านหลังนี้ นับแต่นั้นก็มีเรื่องประหลาดเกิดขึ้น เมื่อหนิงเริ่มสังเกตเห็นพฤติกรรมแปลก ๆ ของผู้เช่า ทั้งการแขวนเครื่องรางที่ทำจากขนนกอีกา แขวนซากอีกาไว้รอบบ้าน และทุก ๆ 04.00 น. ชาวบ้านรอบข้างก็มักได้ยินเสียงสวดประหลาด ๆ สร้างความหวาดกลัวให้กับเพื่อนบ้านใกล้เคียง จนกระทั่งกวินเองก็เริ่มมีพฤติกรรมแปลกไป และมีรอยสักสัญลักษณ์สามเหลี่ยมที่ดูไม่น่าไว้วางใจ และอิง ลูกสาวตัวน้อยที่เข้าไปพัวพันกับอันตรายบางอย่างที่มองไม่เห็น

แม้หนังหลายเรื่องของจิมที่ผ่านมา มักจะเล่าเรื่องลี้ลับผ่านผีหรือวิญญาณ แต่หนังเรื่องนี้ก็ยังมีผีอยู่ แต่หนังทั้งเรื่องล้วนขับเคลื่อนด้วยบรรยากาศลี้ลับของลัทธิประหลาดที่มีความแฟนตาซีอยู่พอควร ทำให้หนังเรื่องนี้ก็เลยมีกลิ่นอายความเป็นกึ่ง ๆ Fantasy-Horror ที่ขับเน้นความหลอนจากธีมคำสาป ปริศนาความลับ และฉากความรุนแรงโหด ๆ มากกว่าจะเอาผีมาหลอกกันตรง ๆ และจังหวะ Jump Scare คม ๆ ที่ยังทำงานได้ดีไม่แพ้หนังเรื่องก่อน ๆ

และวิธีการเล่าเรื่องที่ค่อย ๆ เผยปมไล่จากน้อยไปหามาก ตั้งแต่หนิง ตัวแทนของคนที่รู้น้อยที่สุด เรียกว่ารู้น้อยเท่าคนดู ไปจนถึงกวิน ผู้เข้ารีตในลัทธิด้วยเป้าประสงค์บางอย่าง และคุณหมอราตรี ผู้กำความลับเกือบทั้งหมดในหนังเอาไว้ ทั้งหมดนี้ถูกเชื่อมเข้าเป็นสามเหลี่ยมที่โยงใยเรื่องราวทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้หนังของจิมเรื่องนี้ดูมีความเข้าใกล้เส้นความบันเทิงที่เน้นบรรยากาศหลอน และวิธีการเล่าที่แปลกกว่าหนังเรื่องอื่น ๆ ของจิมที่มักเล่าเป็นเส้นตรงกว่า

ซึ่งในองก์แรก ด้วยการเล่าเรื่องผ่านสายตาของหนิงเป็นหลัก ทำให้ในองก์แรกเล่าเป็นเส้นตรงแบบทื่อ ๆ เพื่อรักษาความรู้น้อยเอาไว้ให้ผู้ชมค่อย ๆ ล่วงรู้ความลับไปพร้อมกัน ซึ่งมันก็ปฏิเสธไม่ได้นะครับว่ามันก็มีความน่าเบื่อในระดับหนึ่งแหละ จนกระทั่งเมื่อหนังเลยเข้าองก์ที่ 2 ที่อยู่ห่างจากองก์แรกพอสมควร ตัวหนังก็เริ่มเผยผิวที่แท้จริง ด้วยการรีเซตเนื้อเรื่องในองก์แรกใหม่ และ Flashback ไปยังเรื่องราวปมความลับใหม่ที่ยังไม่ได้ถูกเล่าในองก์แรก ผ่านสายตาของกวินแทน ซึ่งถือว่าเป็นอะไรที่ชวนเหวอแตกมาก

รวมทั้งการสลับไทม์ไลน์จากอดีตไปปัจจุบัน เป็นการเอาเทคนิคหนังสืบสวนสอบสวนมาใช้ได้อย่างบ้าและกล้าหาญมาก และทำได้ออกมาดูรู้เรื่องเสียด้วยแฮะ เพราะถ้าทำออกมาชุ่ยนี่รับรองดูไม่รู้เรื่องแน่นอน จนเมื่อองก์สุดท้าย ตัวหนังก็ค่อย ๆ บีบแคบลงด้วยสถานการณ์ที่ทำให้คนดูค่อย ๆ ปะติดปะต่อเหตุการณ์ของทั้ง 2 ช่วงเวลาเพื่อคลี่คลายปริศนาและเงื่อนงำบางอย่าง และหาบทสรุปของหนังที่ทิ้งเอาไว้และตามมาเก็บกลับได้แบบว่าร้องอ๋อเลย รู้ตัวอีกทีก็รู้สึกว่าตัวหนังพามาลึกและไกลมาก ๆ ชนิดที่เรียกว่าตัวอย่างหนัง (ที่แอบไม่ค่อยน่าสนใจ) นี่จริง ๆ แล้วเป็นแค่ปลายยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้นเอง

อีกหนึ่งความน่าสนใจก็คือประเด็นความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะครอบครัวที่มีเด็กเป็นศูนย์กลางของเนื้อเรื่อง ที่แอบชวนให้คิดถึงหนังสยองขวัญฮอลลีวูด ‘Insidious’ (2010) อยู่นิดหน่อย รวมทั้งการแฝงประเด็นด้านเศรษฐกิจ เหมือนกับหนังของจิมเรื่องก่อน ๆ ในองก์แรก พุ่งประเด็นไปถึงการดิ้นรนดำรงชีพของครอบครัวชนชั้นกลางในเมือง ที่ต้องการย้ายไปอยู่คอนโด เพราะใกล้โรงเรียนของอิง และเพื่อให้สะดวกต่อการเดินทาง เลยจำต้องหาผู้เช่าบ้านด้วยราคาสูง ๆ แต่แม้ว่าจะได้ผู้เช่าที่ยอมสู้ราคา แต่ทว่าผู้เช่ารายนั้นก็ได้นำเอาลัทธิประหลาดมาสู่กวินและคนในครอบครัวนี้ในที่สุด

จนเมื่อเข้าองก์ที่ 2 ตัวหนังก็ใช้ภาพของกวินในการสะท้อนภาพความสิ้นหวังของชีวิตคนเมือง ที่เลือกพึ่งพาไสยศาสตร์ หรือที่เรียกกันในยุคนี้ว่า ‘มูเตลู’ เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการอย่างรวดเร็วทันใจเหมือนพลิกฝ่ามือ ซึ่งแม้ว่ามันจะดูขัดกับแนวคิดสมัยใหม่ที่มองว่าการมูเตลูเป็นเรื่องงมงาย เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หวังกับสิ่งลม ๆ แล้ง ๆ แทนที่จะเอาเวลาไปหาวิถีทางที่แก้ได้ในชีวิตจริงมากกว่า

แต่ก็ต้องยอมรับว่า ความทุกข์ทนของคนสมัยใหม่บางอย่างมันก็เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่แก้ได้ยาก หรือบางทีถ้ามันใหญ่เกินตัวไปมาก ความทุกข์ทนบางอย่างก็แก้ไขไม่ได้ด้วยซ้ำ การเป็นสายมู หรือการยึดถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือลัทธิที่ตอบโจทย์และมีความรู้สึกเต็มใจที่จะน้อมนำคำสอนมาทำตาม เพื่อหวังว่าจะให้ผลตามที่ต้องการแบบรวดเร็วทันใจ บันดาลสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้ดูมีความหวัง หรืออย่างน้อยก็แค่ให้ได้รู้สึกว่าสบายใจและรู้สึกเติมเต็มในท้ายที่สุดก็ยังดี

ซึ่งการเข้าลัทธิประหลาด อาจจะดูตอบโจทย์ความปรารถนาของชนชั้นกลางตัวเล็ก ๆ ครอบครัวหนึ่งได้ดีกว่าการคาดหวังว่าจะมีทางแก้ปัญหาใหญ่ ๆ ทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำ การคาดหวังว่าผังเมืองจะดีขึ้น จนทำให้การเดินทางสะดวกจนสามารถอยู่ที่บ้านได้โดยไม่ต้องเช่าคอนโดฯ ที่ใกล้โรงเรียน การไม่จำเป็นต้องหางานใหม่อัปค่าตัวไปเรื่อย ๆ เพื่อให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย และปัญหาทางเศรษฐกิจของชนชั้นกลาง ในเมือง (ที่ว่ากันว่าลำบากที่สุดในยุคสมัยนี้) ได้อย่างเบ็ดเสร็จ

หรือแม้แต่ปัญหาส่วนตัวที่เป็นบาดแผลในใจของกวิน (ซึ่งเป็นสาเหตุที่นำพาเขาไปสู่ลัทธิ) ในองก์ที่ 2 ที่ยังไงก็แก้ไขไม่ได้แน่ ๆ ในความเป็นจริง แต่ความรู้สึกขอแค่ให้ได้ได้อธิษฐานเพื่อหวังว่า อย่างน้อยก็มีโอกาสเป็นจริงได้บ้าง แค่นี้ก็อาจจะรองรับความรู้สึกได้มากเพียงพอแล้ว แม้ว่าหลายครั้งการมูเตลูนั้นจะเกิดจากอวิชชา หรือความไม่รู้แจ้งเห็นจริงของสิ่งต่าง ๆ (อริยสัจ) จนนำพาให้ตัวละครไปพบกับความวิบัติฉิบหายในท้ายที่สุดก็ตาม ก่อนจะขมวดเรื่อง ด้วยการวนกลับไปหาประเด็นดราม่าครอบครัวตอนท้าย ที่ทิ้งท้ายด้วยความเหวอ และยังคงเรียกน้ำตาได้ดีตามสไตล์หนังของจิม

แม้ว่าตัวหนังจะบันเทิงด้วยความหลอน และการแฝงประเด็นความเป็นมนุษย์เอาไว้ได้อย่างแยบคาย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีจุดสังเกตนะครับ เพราะว่าด้วยการเล่าเรื่องที่ซับซ้อนและรวดเร็วนี่แหละ ที่ทำให้ตัวหนังพุ่งตรงไปที่วิธีการเล่าเรื่อง และเรื่องราวที่ค่อย ๆ ทวีความเข้มข้น โหด และแฟนตาซีมากขึ้น ซึ่งในแง่ของความบันเทิงและความเซอร์ไพรส์ ก็ต้องถือว่าทำได้ดีเลยนะครับ เป็นหนังที่ดูแล้วหลอนแตก แต่ก็มีความบันเทิงและเซอร์ไพรส์เหวอ ๆ อยู่ไม่น้อย เรื่องยิ่งเดินก็ยิ่งเซอร์ไพรส์หนัก แถมมีกลิ่นตลกร้ายแทรกด้วยนะ

แต่ด้วยการเล่าสลับเรื่องคู่ขนานทั้งปัจจุบันและเหตุการณ์ Flashback ในอดีตสลับกันไปมาอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการต้องทำความเข้าใจใน Vibe ของลัทธินี้ด้วยว่ามีพิธีกรรมอะไรบ้าง และกำลังทำอะไรกันอยู่ มันก็เรียกร้องความตั้งใจของคนดูอยู่มากพอสมควร คือถ้าเผลอก็อาจจะมีงงว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วทำไมต้องสรุปจบแบบนั้น ราวกับว่าเราเองก็เผลอเข้ารีตเป็นส่วนหนึ่งของลัทธินี้ไปโดยไม่รู้ตัว ทำให้การวางประเด็นเกี่ยวกับครอบครัว และเศรษฐกิจที่ส่งแรงกดดันมาถึงตัวละครได้เบาบางลงในองก์ท้าย ๆ ไปด้วย

‘บ้านเช่า..บูชายัญ’ อาจจะไม่ใช่หนังที่สมบูรณ์แบบเสียทีเดียว แต่ก็เป็นหนังที่ผู้เขียนก็ยังเต็มใจเชียร์ให้ไปดูกันในโรงภาพยนตร์นะครับ ทั้งความสยองที่หลอนติดตา ประเด็นดราม่าและความเป็นมนุษย์ที่แฝงเอาไว้ รวมทั้งการแสดงของทั้ง เวียร์ ศุกลวัฒน์, มิว นิษฐา และ ต่าย เพ็ญพักตร์ ที่รับผิดชอบในพาร์ตของตัวเองได้ดีมาก และที่เซอร์ไพรส์ผู้เขียนมาก ๆ ก็คือ อิง ที่แสดงโดยน้องกัสจัง ที่แสดงได้ประทับใจมาก ไม่เล่นใหญ่เวอร์ ๆ เหมือนดาราเด็กทั่วไปแบบที่เคยเห็น ๆ กัน และสามารถสลับคาแรกเตอร์ได้แบบตามสั่ง คือดูทรงแล้วน้องมีแววรุ่งในงานแสดงแน่ ๆ

เป็นแนวสยองขวัญผสมดราม่าตามสไตล์พี่จิม ที่ขับเน้นความบันเทิง แฝงแฟนตาซีนิด ๆ และ กลเม็ดวิธีการเล่าเรื่องที่ซับซ้อน (แต่เข้าใจได้ไม่ยาก) เป็นความบันเทิงอย่างที่หาได้ยากในหนังไทย ซึ่งทำออกมาได้น่าสนใจ กลายเป็นหนังสยองขวัญไทยสไตล์จัดที่น่าสนใจ (และห้ามสปอยล์) ที่สุดเรื่องหนึ่งในไตรมาสแรกของปีนี้เลย

จุดเด่น บ้านเช่า..บูชายัญ

  1. บ้านเช่า..บูชายัญ หนังสไตล์จัดจ้านที่มีบทลึก เหวอ และสปอยล์อารมณ์หนังได้ยาก เพราะมีความลับที่แอบซ่อนไว้ในหนังที่เกินจากตัวอย่างไปเยอะมาก ต้องไปดูเอง
  2. ตัวหนังมีผีและ Jump Scare แต่ไม่ได้เน้นผีหลอก เน้นสร้างบรรยากาศความหลอนมากกว่า ส่วนจังหวะตุ้งแช่ยังเฉียบคมเช่นเคยตามสไตล์หนังของจิม
  3. ชื่นชมคน Scout Location ที่เลือกบ้านยุคเก่า ๆ ที่บรรยากาศจะดูขรึมขลัง และเป็นนัยบอกถึงระยะเวลาของเนื้อเรื่องที่เกิดขึ้นภายในบ้านได้อย่างน่าสนใจ
  4. การเล่าเรื่องที่หยิบเอาสไตล์หนังสืบสวนสอบสวนมาเล่าได้อย่างซับซ้อน แต่เข้าใจได้ไม่ยาก ปูและเก็บกลับได้เรียบร้อยสวยงาม
  5. ยังสะท้อนปมดราม่าครอบครัว และปัญหาเศรษฐกิจเอาไว้ได้อย่างแยบคายและบันเทิง

จุดสังเกต

  1. พอหนังเล่าด้วยท่าทีซับซ้อน ก็ต้องใช้ความตั้งใจดูพอสมควร ถ้าเผลออาจจะหลุดจากเรื่องไปเลย
  2. งานโปรดักชัน โดยเฉพาะงานซีจีบางจุดยังดูมีความเป็นหนังสตรีมมิง แต่โดยรวมถือว่าไม่แย่
  3. รายละเอียดของตัวลัทธิน่าสนใจ แต่ลงรายละเอียดน้อยไปหน่อย ไม่แน่ใจว่าจะเก็บไว้สปินออฟเหมือนตอนหนังสั้น ‘มะขิ่น’ จาก ‘ลัดดาแลนด์’ หรือเปล่านะ บ้านเช่า..บูชายัญ

บทความที่น่าสนใจ